เงินเกษียณของคุณหน้าตาแบบไหน

เราทุกคนรู้ว่าต้องเก็บเงินไว้ใช้ในยามแก่ชรา ให้มากเพียงพอกับอายุที่มีโอกาสจะอยู่ได้ยาวนานขึ้น จนถึงอายุ 90 ปี

เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินที่คาดว่าใช้ให้เพียงพอแล้ว มันมากมายมหาศาล จนแทบอยากจะหยุดคิด

กระซิบว่า หากวันนี้คุณอายุประมาณ 40 ปี เงินวัยเกษียณที่คุณต้องเตรียมแล้วคุณจะอยู่ได้อย่างสบาย ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทแน่นอนค่ะ

การหาเงินมาออมด้วยแรงการทำงานของเราเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน นอกจากนำเงินออมเหล่านั้น มาบริหารจัดการอย่างถูกวิธี คือ

• ทำประกันความเสี่ยง
• ออมในประกันบำนาญเพื่อสร้างรายได้ประจำพื้นฐา ไว้ยามเกษียณ และรักษาสิทธิทางภาษี นำเงินภาษีมาเป็นเงินออมนั่นเอง
• สุดท้าย ต้องจัดเงินออมไปลงทุนเพิ่มค่า ปรับความเสี่ยงที่รับได้ ตามช่วงอายุ เสี่ยงน้อยไป เงินโตช้า เสี่ยงมากไปเงินอาจหมดหายไปก่อนเกษียณ การเรียนรู้เรื่องการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่วัยทำงาน จะไปเรียนรู้ตอนมีเงินก้อนให้บริหารยามเกษียณ มันจะไม่ทันค่ะ

 

3 สาเหตุหลักที่แค่ออมอย่างเดียว แล้วไม่นำเงินไปลงทุนเพิ่มค่าเลย เงินวัยเกษียณจะไม่พอใช้ ก็คือ

1. จำนวนปีที่ทำงาน โดยเฉลี่ย 35 ปี คือ ตั้งแต่อายุ 25 ปี - อายุ 60 ปี ซึ่งในช่วงต้นของวัยทำงานหลายคนอาจจะเก็บเงินไม่ได้เลย เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง(ถ้ามี) และ สร้างเนื้อสร้างตัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สร้างครอบครัวใหม่ จะได้เริ่มออมเพื่อวัยเกษียณจริงๆ หลายคน อาจจะได้เริ่มตอนอายุ 40 ปี ขึ้นไป

ดังนั้น จำนวนปีที่ออมเพื่อวัยเกษียณอาจจะแค่ 20-25 ปี เท่านั้น ในขณะที่เรามีโอกาสต้องใช้เงินก้อนนี้ยาวนานถึง 30 ปี โดยที่ไม่มีรายได้เลยทีเดียว

2. อัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าเงินของเราลดลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการหาผลตอบแทนให้เงินของเราบ้าง

3. อัตราการออมของเรา มักทำได้อยู่ที่ 10-30% ต่อเดือน สำหรับเงินเกษียณ ในขณะที่เราจะใช้เงินหลังเกษียณประมาณ 70% ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณ

เท่านี้ก็กะคร่าวได้แล้วค่ะ ว่าไม่พอแน่ๆๆ

ปัจจัยเสริมที่ช่วยได้จากเงินเกษียณที่อาจจะไม่เพียงพอ ก็คือ

• รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลยามชรา
• เตรียมอาชีพที่สร้างรายได้ให้เราหลายๆทาง มองหาอาชีพที่เราทำไปได้เรื่อยๆไม่มีวันเกษียณ เรียนรู้อยู่เสมอ สร้างทักษะใหม่ๆ ไว้เป็นที่พึ่งให้ตนเองยามชรา
• หากมีลูกหลานเป็นที่พึ่งทางรายได้ ถือว่าช่วยได้มาก แต่ไม่คาดหวังไว้ก่อน เป็นดีที่สุดค่ะ
• วางแผนรูปแบบการใช้ชีวิต ที่จะเพียงพอกับเงินที่เตรียมไว้ ลด ละ เลิก ปัจจัยฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่างๆ

พอพูดถึงการนำเงินไปลงทุนเพิ่มค่า รูปแบบก็มีหลายวิธี ทั้งการลงทุนในหุ้น ในกองทุนต่างๆ และ อสังหาริมทรัพย์

เงินทองต้องวางแผน ขอฝากข้อคิดให้ท่านสำรวจสินทรัพย์เหล่านี้ ว่าเมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว เราจะใช้มันอย่างไร โดยคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ

1.สภาพคล่อง 2.ผลตอบแทน 3.ความเสี่ยงต่างๆ

สภาพคล่อง หากเราต้องการเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสด เราจะนำออกมาใช้ได้อย่างไร

ผลตอบแทน ในวันที่เราเกษียณอายุ เรายังบริหารจัดการดูแลการงอกเงยของผลตอบแทนสินทรัพย์เหล่านั้นได้ดีอยู่หรือเปล่า

ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้สินทรัพย์เหล่านั้นมูลค่าลดลง หรือ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการอย่างไร ถึงวัยหนึ่งของเราเช่น อายุ 70 ปี ++ เราจะสามารถจัดการมันได้ไหม

สุดท้ายปลายทาง วัยเกษียณที่แท้จริง ก็จะพึ่งพากระแสเงินสดในที่ฝากเงินแบบไม่มีความเสี่ยง และ ปลอดการจัดการ รักษาเงินต้นได้ ดังเช่น เงินฝากธนาคาร ซึ่งในเวลานั้น อาจจะไม่มีผลตอบแทนให้แล้ว

การวางแผนต้องมองเผื่อไประยะยาว และจัดการช่วงต่างๆของชีวิตอย่างเหมาะสม เพราะชีวิต คือ การเดินทาง และ เงินทองต้องวางแผน 

พิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ CFP

Visitors: 49,332